การตรวจ
Sleep test มีกี่แบบ
และควรเลือกตรวจอย่างไร
การตรวจสุขภาพการนอนหลับ หรือ Sleep test สามารถแบ่งออกได้เป็น 4
ระดับ ตามความละเอียดของข้อมูลที่ตรวจ
โดยใช้ตามนิยามของสมาคมเวชศาสตร์การนอนหลับของสหรัฐอเมริกา (American Academy
of Sleep Medicine หรือ AASM) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ดังนี้
ระดับที่ 1 การตรวจสุขภาพการนอนหลับแบบสมบูรณ์โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตอาการตลอดคืน
(Comprehensive technician-attended polysomnography) การตรวจแบบนี้จะประกอบด้วย
การวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ลูกตา ใต้คาง และขา คลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด การตรวจวัดลมหายใจ เป็นวิธีมาตรฐาน ผลตรวจจะได้ข้อมูลที่ละเอียด
มีความแม่นยำสูง โดยอาจทำภายในห้องตรวจเฉพาะของสถานพยาบาล หรือนอกสถานที่ และมีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตอาการตลอดทั้งคืนที่ตรวจ
ระดับที่ 2 การตรวจสุขภาพการนอนหลับแบบสมบูรณ์ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่เผ้าตลอดทั้งคืน (Comprehensive-unattended
portable polysomnography) การตรวจวิธีนี้สามารถทำได้ที่บ้านหรือในห้องนอนของผู้รับการตรวจ
ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย หรือตามสถานที่พักต่างๆ ทำให้คล้ายกับการนอนในชีวิตประจำวัน
โดยจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ให้ แต่ไม่ได้เฝ้าระหว่างเวลาที่ตรวจ
ลักษณะของการตรวจแบบนี้มีส่วนประกอบและข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือได้ใกล้เคียงกับการตรวจระดับ
1 แต่มีข้อดี คือ ผู้ป่วยจะได้นอนในห้องนอนของตัวเอง จึงมีความรู้สึกผ่อนคลายและมีความเป็นส่วนตัวมากกว่าค่าใช้จ่ายในการตรวจถูกกว่า
เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มในเรื่องค่าห้องของโรงพยาบาล
รวมถึงยังประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง
นอกจากนี้ยังใช้เวลาในการรอคิวตรวจน้อยกว่า
ผู้ที่เหมาะสำหรับการตรวจวิธีนี้ ได้แก่
ผู้ที่เคลื่อนไหวและเดินทางไม่สะดวก
หรือผู้ที่มีอาการมากและต้องการรักษาอย่างรวดเร็ว
แต่ต้องรอคิวตรวจในโรงพยาบาลนานมาก เป็นต้น แต่มีข้อจำกัดคือ
อุปกรณ์ตรวจการนอนหลับอาจหลุดหรือเคลื่อนระหว่างคืน และมีโอกาสที่สัญญาณจะสูญหายระหว่างการตรวจได้
เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้า ทำให้ผลที่ได้อาจคลาดเคลื่อน ดังนั้น การตรวจชนิดนี้
จึงมีหลักฐานสนับสนุนการใช้น้อยกว่าวิธีแรก แต่ในทางปฏิบัติพบปัญหาเหล่านี้น้อย
เนื่องจากเทคนิคการตรวจในปัจจุบันได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต
ระดับที่ 3 การตรวจสุขภาพการนอนหลับแบบจำกัดข้อมูล (Limited channel portable
sleep test) การตรวจด้วยวิธีนี้ จะมีเพียงการตรวจลมหายใจ
การเคลื่อนไหวของหน้าอกและท้อง การวัดระดับออกซิเจนในเลือด การวัดระดับเสียงกรน
บางครั้งอาจตรวจรวมคลื่นหัวใจร่วมด้วย หรือการตรวจการนอนหลับจากระบบหลอดเลือดและประสาทอัตโนมัติ
เป็นต้น การตรวจการนอนหลับด้วยวิธีนี้อาจมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าระดับ 1 และ 2 อย่างไรก็ตาม
ผลการตรวจมักได้ค่าความรุนแรงต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากไม่ได้วัดคลื่นสมอง
จึงไม่สามารถประเมินประสิทธิภาพในการนอน รวมถึงระยะความลึกของการนอน ทำให้ผลตรวจมีความแม่นยำน้อยกว่า
ข้อบ่งชี้ของการตรวจแบบนี้ คือ ใช้เพื่อวินิจฉัยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจากการอุดกั้นที่มีระดับความรุนแรงตั้งแต่ปานกลางขึ้นไป
แต่ไม่สามารถเข้ารับการตรวจแบบมาตรฐานในโรงพยาบาลในเวลาที่เหมาะสม ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ
แต่ผลการตรวจด้วยวิธีนี้ไม่พบความผิดปกติ หรือผู้ที่มีโรคร่วมอื่นๆ อาทิ
ภาวะหัวใจวาย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคระบบประสาทกล้ามเนื้อ
และผู้ที่สงสัยว่ามีโรคจากการนอนหลับ เช่น โรคขากระตุกขณะนอนหลับ หรือโรคลมหลับ
อาจพิจารณาเข้ารับการตรวจสุขภาพการนอนหลับชนิดที่ 1 แทน
ระดับที่ 4 การตรวจระดับออกซิเจนในเลือด และหรือวัดลมหายใจขณะนอนหลับ (Single
or dual channel portable sleep test) เป็นการตรวจการนอนกรนเพียงบางส่วน
และได้ข้อมูลไม่เกิน 3 อย่างเท่านั้น จึงเลือกใช้เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถตรวจในแบบต่างๆที่กล่าวมาแล้วได้เท่านั้น
เนื่องจากข้อมูลที่ตรวจได้ไม่มีความน่าเชื่อถือมากพอที่จะนำมาใช้ยืนยันการวินิจฉัยอาการนอนกรนและภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับได้
จึงได้รับความนิยมน้อยในปัจจุบัน
สนใจเข้ารับการตรวจ Sleep Test สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line @ResMedbyRTB
ขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์